พฤติกรรมต่าง ๆ ในสัตว์จำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. พฤติกรรมที่มีมาแต่กำเนิด เป็นพฤติกรรมง่าย ๆ ตอบสนองต่อสิ่งเร้าโดยไม่ต้องผ่านการเรียนรู้หรือประสบการณ์ มีแบบแผนที่แน่นอน และแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิดของสัตว์ จำแนกได้ดังนี้
1.1 พฤติกรรมที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าแบบไม่มีทิศทางที่แน่นอน เป็นพฤติกรรมที่พบในสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น การเคลื่อนที่หนีฟองแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ของพารามีเซียม
1.2 พฤติกรรมที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าอย่างมีทิศทางที่แน่นอน พบได้ในสิ่งมีชีวิตที่มีหน่วยรับความรู้สึก เช่น การเคลื่อนที่เข้าหาแสงของตัวพลานาเรีย การเคลื่อนที่ของแมลงเม่าบินเข้าหาแสง
1.3 พฤติกรรมแบบรีเฟล็กซ์ชนิดต่อเนื่อง จะประกอบด้วยพฤติกรรม ย่อย ๆ หลายพฤติกรรมซึ่งแต่เดิมเรียกว่า สัญชาตญาณ ซึ่งจะมีมาแต่กำเนิด ไม่ต้องเรียนรู้มาก่อน เป็นลักษณะเฉพาะของสัตว์แต่ละชนิด เช่น
- การสร้างรังของนก มีพฤติกรรมต่อเนื่อง เริ่มจากบินไปหาวัสดุ เลือกจิกวัสดุที่จะนำมาใช้สร้างรัง บินกลับมาสร้างรัง ทำเช่นนี้อย่างต่อเนื่องจนสร้างรังจนสำเร็จ การออกไข่ ฟักไข่ และการดูแลจนกว่าจะบินได้
- การชักใยของแมงมุม เพื่อใช้เป็นกับดักแมลงเล็กที่บินมาติดแล้วรับจับกินเป็นอาหาร
- การดูดนมของทารก มีพฤติกรรมต่อเนื่อง เริ่มจากสิ่งเร้า คือ ความหิว การสัมผัสกับหัวนมกระตุ้นให้เกิดการดูดนมและกลืน เป็นปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ที่ต่อเนื่องกันหลาย ๆ พฤติกรรมจนกว่าทารกจะอิ่ม
- การอพยพของนกปากห่าง เพื่อหนีอากาศที่หนาวเย็น
- การจำศีลของกบ เป็นพฤติกรรมการหลีกเลี่ยงความแห้งแล้งหรือความหนาวเย็น การขาดแคลนอาหาร โดยหลบไปอยู่ในรูใต้พื้นดิน หายใจอย่าง ช้า ๆ เพื่อลดการเผาผลาญอาหารในร่างกาย
2. พฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากประสบการณ์และการเรียนรู้ของสัตว์ พบในสัตว์ชั้นสูงที่มีระบบประสาทเจริญดี นอกจากนี้สัตว์ที่อยู่รวมกันเป็นหมู่จะมีสังคมของตนเอง จึงมีพฤติกรรมในการสื่อสารติดต่อกัน ดังนี้
2.1 การสื่อสารด้วยท่าทาง เช่น การแยกเขี้ยวของสุนัข การหมอบของสุนัขเพื่อแสดงความนอบน้อมหรือกลัว การบินและการเต้นระบำของผึ้งเมื่อพบอาหาร
2.2 การสื่อสารด้วยเสียง เช่น การส่งเสียงร้องของกบและแมวในการเรียกหาคู่ สุนัขได้ยินเสียงกระดิ่งทุกครั้งจะได้รับอาหาร ต่อมาไม่มีอาหารมาวางมีเพียงเสียงกระดิ่ง สุนัขก็จะมีน้ำลายไหลออกมาเหมือนมีอาหารมาวาง เสียงเตือนภัยของแม่ไก่ ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของไก่
2.3 การสื่อสารด้วยการสัมผัส เช่น สุนัขเลียปากสุนัขด้วยกันเพื่อบอกถึงความอ่อนน้อม
2.4 การสื่อสารด้วยสารเคมี เพื่อดึงดูดเพศตรงข้าม เพื่อบอกอาณาจักร หรือเพื่อการนำทาง เช่น การเดินทางไปหาอาหารของมด การฉี่ของสุนัขเพื่อครอบครองพื้นที่
|