การเลือกตัวกรอง
ตัวกรองมีหลายประเภท ผู้ทดลองจะใช้ตัวกรองประเภทใดนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของตะกอนหรือสารที่ต้องการจะแยก รวมทั้งความต้องการที่จะแยกตะกอนทั้งหมด ออกจากสารละลายให้มากน้อยเพียงใด ตัวกรองที่นิยมใช้กันทั่ว ๆ ไปมีดังนี้
กระดาษกรอง
กระดาษกรองมีหลายชนิด แต่ละชนิดใช้ได้เหมาะสมกับลักษณะและขนาดของตะกอน ตลอดจนจุดประสงค์ของการแยกตะกอนด้วย เช่น กระดาษกรองที่ใช้ในคุณภาพวิเคราะห์ เป็นกระดาษกรองที่เมื่อเผาแล้วมีปริมาณของขี้เถามากพอสมควร คือประมาณ 0.7 - 1.0 มิลลิกรัม สำหรับกระดาษที่มี เส้นผ่าศูนย์กลาง 9 เซนติเมตร กระดาษกรองชนิดนี้ จึงไม่เหมาะในปริมาณวิเคราะห์ แต่นำไปใช้อย่างกว้างขวางในการทำสารละลายใส หรือแยกของแข็งออกจากสารละลายทั่ว ๆ ไป
กระดาษกรองอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า Hardened grade papers เป็นกระดาษกรองที่ใช้กับการกรองด้วยระบบ สูญญากาศ เพราะมีพื้นผิวค่อนข้างแข็ง เหนียว เมื่อเปียกมีทั้งชนิดธรรมดาและชนิดมีขี้เถ้าน้อยหรือไม่มีขี้เถ้าเลย
เนื่องจากกระดาษกรองมีขนาดแตกต่างกัน ผู้ทดลองต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม กับปริมาณของตะกอน
กระดาษกรองมีหลายชนิด บางชนิดเนื้อหยาบ บางชนิดเนื้อละเอียด และมีขนาดของรูพรุนแตกต่างกัน จึงต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม กับขนาดของตะกอนด้วย เช่น ถ้าใช้กระดาษกรองที่มีเนื้อหยาบ ผลึกหรือตะกอนที่มีขนาดเล็ก จะผ่านไปได้ และการกรอง จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าใช้กระดาษกรองที่มีเนื้อละเอียดการกรองจะดำเนินไป อย่างช้า ๆ ได้ตะกอนมาก เนื่องจากจะมีตะกอนผ่านไปได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ด้วยเหตุนี้การเลือกใช้กระดาษกรอง จึงควรคำนึงถึงชนิดของกระดาษกรอง และอัตราเร็วในการกรองเป็นสิ่งสำคัญ
สำหรับกระดาษกรองที่มีผิวด้านหนึ่งเป็นผิวหยาบอีกด้านหนึ่งเป็นผิวละเอียดนั้น เมื่อเวลากรองจะต้องเอาด้านผิวหยาบ ขึ้นข้างบน ทั้งนี้เพื่อช่วยกระจายตะกอนไม่ให้ไปรวมกันตรงก้นกรวย อันจะทำให้อัตราการกรองช้าลงได้
การรินสารละลายในการกรอง
ก่อนจะกรองตะกอนอย่าให้ตะกอนในบีกเกอร์หรือในภาชนะไหลลงบนกระดาษกรอง เพราะตะกอนจะไปอุดรูพรุน ของกระดาษกรอง ทำให้การกรองช้าลงได้ ดังนั้นก่อนกรองจึงควรตั้งสารละลายทิ้งไว้ให้ตะกอนนอนก้นก่อน แล้วค่อย ๆ เทลงไป พยายามให้ตะกอนทั้งหมดอยู่ในบีกเกอร์ วิธีการเช่นนี้เรียกว่า การริน มีวิธีทำเป็นขั้น ๆ ดังนี้
1. ถือภาชนะบรรจุสารที่จะกรอง (อาจเป็นบีกเกอร์หรือหลอดทดลอง) ไว้มือหนึ่งและอีกมือหนึ่งถือแท่งแก้วคน
2. เอียงบีกเกอร์จนกระทั่งของเหลวเกือบจะถึงปากบีกเกอร์
3. ใช้แท่งแก้วสัมผัสกับปากบีกเกอร์ตรงบริเวณที่จะให้สารไหลลงมา และให้ปลายข้างหนึ่งของแท่งแก้วอยู่ในกรวยกรอง
ภาพที่ 1 ลักษณะการรินสารละลายลงในกระดาษกรอง
ที่มา : http://www.science.cmru.ac.th/envi/instrument/chapter1_t7.html
4. เอียงบีกเกอร์ต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งของเหลวสัมผัสกับแท่งแก้วและไหลลง สู่กรวยกรองอย่างช้า ๆ ถ้าจะหยุดเทจะต้องลากปากบีกเกอร์ถูกขึ้นไปตามแท่งแก้ว เพื่อป้องกันมิให้ของเหลวไหลออกมาทางด้านข้างของบีกเกอร์
การล้างตะกอน
เมื่อรินสารละลายใส ๆ ลงในกระดาษกรองจนหมดแล้วควรล้างตะกอนที่อยู่ในบีกเกอร์ที่จะเทตะกอนลงไป วัตถุประสงค์ของการล้างตะกอนก็เพื่อกำจัดสารละลาย ที่ตะกอนอมไว้และสารไม่บริสุทธิ์อื่น ๆ ที่อยู่ติดกับตะกอนไปหมดไปก่อน ดังนั้นของเหลวที่จะใช้ในการล้างตะกอน จะต้องสามารถรวมเป็นเนื้อเดียวกันกับสารละลาย ที่ตะกอนอุ้มไว้ แต่ต้องไม่ละลายตะกอนเลย
การล้างตะกอนอาจล้างในบีกเกอร์ก็ได้ หลังจากรินสารละลายออกไปหมดแล้ว โดยการเติมของเหลวที่จะใช้ล้างตะกอนลงไปเล็กน้อย คนผสมเข้าด้วยกัน แล้วตัดทิ้งไว้ให้ตกตะกอน แล้วรินน้ำใส ๆ ลงในกระดาษกรองเพื่อความสะดวกในการริน จึงนิยม ให้ตะกอนตกที่ก้นบีกเกอร์ด้านใดด้านหนึ่งก่อน โดยตั้งบีกเกอร์ให้เอียงเล็กน้อยตะกอนจะได้มารวมทางด้านเดียวกัน
ภาพที่ 2 ลักษณะการวางบีกเกอร์เพื่อให้ตะกอนตกมารวมทางด้านเดียวกัน
ที่มา : http://www.science.cmru.ac.th/envi/instrument/chapter1_t7.html
การล้างตะกอน ควรทำหลาย ๆ ครั้ง โดยใช้ของเหลวที่ใช้ล้างตะกอนครั้งละ เพียงเล็กน้อยจะมีประสิทธิภาพ ในการกำจัดสารต่าง ๆ ที่ปนกับตะกอนได้ดีกว่าการล้างครั้งเดียว ที่ใช้ของเหลวในปริมาณเท่ากัน กับการล้างตะกอนหลาย ๆ ครั้ง อนึ่งการล้างตะกอนนี้ ควรทำในขณะที่ตะกอนยังเปียก หากทิ้งไว้จนตะกอนแห้งแล้วจะล้างตะกอนให้บริสุทธิ์ได้ยาก
การถ่ายเทตะกอน
การถ่ายเทตะกอนจากบีกเกอร์ลงในกระดาษกรองทำให้ได้โดยการฉีดน้ำ จากขวดน้ำล้างลงไป การฉีดน้ำนี้เป็นการชะไล่ตะกอนลงมาในตัวกรอง ให้ทั้งน้ำ และตะกอนไหลตามกันลงมาตามแท่งแก้วสู่ตัวกรอง ในตอนสุดท้ายอาจมีตะกอน เพียงเล็กน้อยติดอยู่ข้าง ๆ บีกเกอร์จึงต้องถูออกด้วยรับเบอร์โพลิชแมนจนสะอาด
โดยทั่วไปแล้วการกรองอาจทำได้ 2 วิธีคือ การกรองด้วยแรงดึงดูดของโลก และการกรองด้วยแรงสูญญากาศ
การกรองด้วยแรงดึงดูดของโลก
การกรองด้วยแรงดึงดูดของโลก เป็นการกรองอย่างธรรมดาที่ใช้กันในห้องทดลองทั่วไป เพราะการกรองโดยวิธีนี้โอกาสที่จะทำให้กระดาษกรองฉีกขาดนั้น มีน้อยกว่าการกรองด้วยแรงสูญญากาศ และยังเหมาะสำหรับการกรองตะกอน ที่มีลักษณะคล้ายวุ้นมากเพราะตะกอนที่มีลักษณะคล้ายวุ้น และตะกอนที่ละเอียดมากจะอุดรู และเกาะกันแน่น เมื่อกรองด้วยแรงสูญญากาศ
อุปกรณ์การกรองด้วยแรงดึงดูดของโลกประกอบด้วย
- กรวยกรอง กระดาษกรอง
- ที่ยึดกรวยกรอง
ภาพที่ 3 แสดงการกรองด้วยแรงดึงดูดของโลก
ที่มา : http://www.science.cmru.ac.th/envi/instrument/chapter1_t7.html
ความเร็วของการกรองโดยวิธีนี้ขึ้นอยู่กับการพับกระดาษกรอง และการวางตำแหน่ง ของกระดาษกรองในกรวยกรองตลอดจนชนิดของกรวยกรองที่ใช้ นอกจากนี้ ผู้ทดลองจะต้องเลือกกระดาษกรองให้เหมาะสม กับลักษณะขนาดและปริมาณของตะกอนอีกด้วย เมื่อเลือกกระดาษกรองได้แล้ว ก็นำกระดาษกรองมาพับเป็นรูปกรวย ซึ่งพับได้หลายวิธี
|
|
ภาพที่ 4 แสดงการพับกระดาษกรอง |
ภาพที่ 5 แสดงการพับกระดาษกรองแบบมีร่อง |
ที่มา : http://www.science.cmru.ac.th/envi/instrument/chapter1_t7.html
|
เมื่อพับกระดาษกรองเรียบร้อยแล้วก็นำใส่ในกรวยกรอง วางให้ขอบตอนบน ของกระดาษกรองแนบสนิทกับผิวแก้วของกรวย ซึ่งทำได้โดยทำกระดาษกรองให้เปียกด้วยน้ำก่อน แล้วใช้นิ้วมือกดขอบตอนบนกระดาษกรองให้แนบสนิทกับกรวยกรอง
สำหรับกรวยกรองนั้นถ้ามีก้านยาวและปลายตีบเล็กน้อย ก็จะทำให้เกิดแรงดึงดูดมากขึ้นและการกรองก็จะเร็วขึ้นด้วย ในบางครั้งก้านกรวยกรองอาจจะมีของเหลวอยู่เต็ม โดยเฉพาะก้านกรวยที่มีขนาดใหญ่จะทำให้การกรองเกิดช้าลง วิธีแก้ก็คือใช้นิ้วมืออุดปลายก้านกรวยไว้ก่อน รอจนกว่ากรวยจะมีของเหลวอยู่เต็มแล้วเผยอ
โดยทั่วไปแล้วการกรองในขณะที่สารละลายร้อน จะทำให้กรองได้เร็วกว่าสารละลายที่เย็นหรือการล้างสิ่งเจือปนออกจากตะกอนก็เช่นเดียวกัน ถ้าล้างด้วยของเหลวที่ร้อนสิ่งเจือปนก็จะหมดไปจากตะกอนได้เร็วกว่าใช้ของเหลวที่เย็น แต่ในกรณีที่ตะกอนนั้นละลายในของเหลวที่ร้อนก็ต้องใช้ของเหลวที่เย็นล้างแทน เพราะอาจจะทำให้ตะกอนละลายได้
|